ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
"...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง
"...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2523
ณ โรงแรมรินคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ป่าไม้ 3 อย่าง คือ
ป่าไม้ ใช้สอย: สามารถนำไม้มาใช้ทำ ถ่าน ฟืน ให้พลังงาน ก่อสร้างทำคอกสัตว์ ทำกสิกรรมต่างๆ
ป่าไม้ ที่ใช้ในการก่อสร้าง : สามารถนำไม้มาใช้สร้างบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์
ป่าไม้ กินได้ : นำผลไม้ที่ได้มากินได้ นำมาเป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องดื่ม เช่น พืชผัก สมุนไพร ผลไม้
ประโยชน์ของป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ
พอกิน
คือ การปลูกต้นไม้ที่กินได้ รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพร ไม้ในกลุ่มนี้ เช่น แค มะรุม ทุเรียน สะตอ ผักหวาน ฝาง แห้ม กล้วย ฟักข้าว ไม้ผลต่าง ๆ
พอใช้
คือ การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าไม้ สำหรับทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน อาทิ ทำฟืน เผาถ่าน ทำงานหัตถกรรม หรือทำน้ำยาซักล้าง ไม้ในกลุ่มนี้ เช่น มะคำดีควาย หวาย ไผ่ หมีเหม็น
พออยู่
คือ การปลูกต้นไม้ที่ใช้เนื้อไม้และไม้เชิงเศรษฐกิจให้เป็นป่า ไม้กลุ่มนี้เป็นไม้อายุยืนเพื่อใช้สร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน ต้นไม้กลุ่มนี้ เช่น ตะเคียนทอง ยางนา สัก พะยูง พยอม
พอร่มเย็น
คือ ประโยชน์อย่างที่ 4 ที่เกิดจากการปลูกป่า 3 อย่าง จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น และฉ่ำเย็นขึ้นมา
แหล่งที่มา
: โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน
ศาสตร์พระราชา คือ ศาสตร์การจัดการและการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษา คิดค้น และวิจัย แล้วพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อใช้ในการจัดการลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ จากภูผาสู่มหานที เมื่อนำองค์ความรู้นี้มาปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระราชทานองค์ความรู้ผ่านพระราชดำรัส พระราชปรารภ และพระบรมราโชวาท ในหลากหลายวาระ ซึ่งโครงการฯ น้อมนำมาเป็นหลักการ และแนวทางในการปฏิบัติ อาทิ
ดิน
“...ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาได้โดยไม่ยากนัก ดินจะเค็มจะเปรี้ยวจะจืดอะไรก็ตาม สามารถที่จะทำให้ดีขึ้นได้ภายในไม่กี่ปี โดยใช้เทคนิคแบบโบราณคือ ใช้ปุ๋ยหมักหรือใช้ตะกอนที่ลงมาตามลำห้วย มาพัฒนาดินอันนี้เป็นวิธีที่ง่าย...”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2536
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
เตรียมดิน
“...การจัดการเตรียมดินเพาะปลูกตามพื้นที่ลาดชัน จะต้องรักษาผิวดินเดิมซึ่งมีความอุดมสูงไว้ และต้องปลูกหญ้าหรือพืชอื่นยึดผิวดินไว้ไม่ให้ถูกฝนหรือกระแสน้ำชะล้างได้ เพราะหากผิวดินถูกชะล้างทำลายเสียแล้วก็จะทพการเพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากดินจะจืดและเสื่อมคุณภาพ”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธุ์ พ.ศ. ๒๕๒๐
ณ บ้านผาปู่จอม ต.กี๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
บำรุงดิน
“ราษฎรน่าจะหมุนเวียนการปลูกพืชประเภทถั่วสลับกับการปลูกข้าวเพื่อการบำรุงดินและการใช้ดินสำหรับการนำมาหาเลี้ยงชีพให้เป็นประโยชน์ตลอดปี”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑
ณ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
แฝก
“…การปลูกหญ้าแฝก จะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผงและวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้นว่าบนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลดชันและร่องน้ำ บนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ ในพื้นที่กักเก็บน้ำจะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกที่ปลูกโดยหลักวิธีนี้ จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื่นในดิน เก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่างๆ ไม่ให้ไหลลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้น..”
พระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ กรุงเทพมหานคร
น้ำ
“…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้าไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙
ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร
ป่า
“...การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การรักษาป่าและปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ ซึ่งบนยอดเขา และเนินเขาสูงขึ้น ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นนั้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นจะมีน้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน...”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2520
ณ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
แหล่งที่มา
: โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน